หน้าเว็บ

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ดนตรีคืออะไร?

ความเข้าใจภาคทั่วไปสำหรับดนตรีในแง่ที่เป็นศิลปะสาขาหนึ่ง (ดนตรีกรรม) ..หมายถึงศาสตร์หรือวิชาในทางสุนทรียะ  หรือ ความงดงาม ซึ่งเป็นกลไกและการตอบสนองทางอารมณ์ของมนุษย์. โดยใช้ "เสียงต่าง ๆ" เป็นทั้งเครื่องมือสร้างสรรค์ และเครื่องมือสื่อสาร.

ในภาษาอังกฤษ. สุนทรียะหรือความงดงามนั้นมีคำที่เกี่ยวข้องพื้นฐานอยู่ 2 คำด้วยกัน..

- esthetic, aesthetic (เอสเธทิค) หมายถึง ..ความงาม, เกี่ยวกับความงาม, สุนทรียะ, เกี่ยวกับสุนทรียะ

และในระดับที่ลึกซึ้งลงไปอีก..คือ

- aesthetical (เอสเธทิคัล) หมายถึง ..เกี่ยวกับความรู้สึกต่อความงาม, ความเห็นหรือทฤษฎีที่ถือเรื่องความงามเป็นสำคัญ

ซึ่งดนตรีกรรม (และศิลปะศาสตร์ทั้งปวง) นั้นเป็นองค์ความรู้ที่เป็น aesthetical อย่างชัดเจน. ในแง่ที่มันเป็น "ศาสตร์" (science) นั้นก็มีชื่อเรียกที่เฉพาะอยู่ คือ "Musicology" (มิวสิโคโลจี ..คำนี้ไม่แพร่หลายในไทยนัก) ..และมีข้อบทและทฤษฎีปลีกย่อยมากมายเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้า.

------------

ประเด็นสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาดนตรีเพื่อการประพันธ์นั้น คือ..
ทฤษฎีดนตรีไม่ใช่เครื่องมือสร้างสรรค์ตัวผลงานโดยตรง. แต่เป็นเครื่องมือตรวจสอบและอ้างอิงเรื่องความถูกต้องที่มีผลต่อข้อสรุปเรื่องความงดงามของตัวงานประพันธ์นั้น ๆ ในเชิงผลลัพธ์.
ในกรณีที่ใช้ตัวบททฤษฎีเป็นพื้นในการประพันธ์งานชิ้นใหม่ใด ๆ นั้น ..มองให้ชัดจะพบว่าทฤษฎีถูกใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐานอยู่ดี คือใช้อ้างอิงเพื่อสร้างทิศทางและแบบแผนทางการประพันธ์ ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่มีนัยยะทางปรัชญาซ้อนอยู่. และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังจริง ๆของการประพันธ์ทั้งปวงนั้น คือ..

"จินตนาการ".

Musicology จึงเป็นเวทีที่ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ อย่างชัดเจน. ข้อมูลความรู้หรือทฤษฎี-หลักทางวิชาการต่าง ๆ นั้น ล้วนใช้เป็นเสมือน "กรอบ" ไม่ว่าจะมองจากมิติไหน ..ไม่ว่าจะเปรียบเทียบเหมือนกรอบของรูปวาด (ซึ่งเป็น 2 มิติ).. หรือเป็นกรอบที่พลิกแพลงแนวเส้นแทยงไปมา หรือกระทั่งเป้นเส้นโค้ง โลดแล่นบน hyperspace / multiple dimension ทางมิติชั้นใด ๆ. ก็ล้วนแต่เป็น "กรอบ" เรื่อยไปทั้งสิ้น.
------------

สุนทรียะนั้นเป็นเรื่องที่ตัดสินด้วยพื้นฐานทางอารมณ์ ซึ่งก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล. ในการที่จะลองทำความเข้าใจเรื่อง "อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ในแง่สิ่งมีชีวิตหนึ่ง" นั้น แต่ละตำราของสถาบันในระดับสากลก็มีข้อแตกต่างกันไปตามทิศทางการวิจัย และข้อมูลเหล่านั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการวิจัยเพิ่มเติมในแต่ละยุคสมัย. ซึ่งตรงนี้ก็กล่าวได้ว่า ความรู้กลายเป็นกรอบทางความคิดและจินตนาการไปได้ ..ไม่ต่างกับวิชาการดนตรีแต่อย่างใด. ไม่เช่นนั้นทฤษฎีใหม่ ๆ ของศาสตร์แขนงต่าง ๆ ..โดยเฉพาะในระดับที่หักล้างหรือเปลี่ยนแปลง "กระบวนทัศน์" (Paradigm Shift) ก็ย่อมจะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลย ถ้ามีกรอบและยึดถือจนเกินไป. นี่คือความงดงามทางปรัชญา.

ดนตรีคือความงดงามอย่างยิ่ง ในแง่ที่มันไร้ตัวตนให้จับต้องมองเห็นได้ ..เป็นคลื่นเสียงที่เดินทางในอากาศเข้าสู่โสตประสาทของผู้รับสารโดยตรง เพื่อสัมผัสกับจิตใจ.

โครงสร้างทางเสียงจากทฤษฎีบทและมาตราต่าง ๆ นั้น ใช้เวลาคัดกรองมาอย่างยาวนานผ่านอารยธรรมต่าง ๆ. และได้มีการจำแนกด้วย "ชื่อที่ออกแบบและตั้งมาอย่างดี" เพื่อที่จะนำเสนอแก้ผู้ที่ศึกษาได้ว่า มาตรานั้น ๆ ติดต่อกับอารมณ์แบบไหน?-ชนิดใด? ในระดับพื้นฐาน. หรือมีหน้าที่อย่างไรในจักรวาลของการศึกษา Musicology.

------------

ศิลปะนั้นเป็นเรื่องของการ "นิยาม" ..หมายถึงการให้ข้อสรุปแบบ "ปลายเปิด"
การตั้งคำถามว่า "ดนตรีคืออะไร?" เองก็เช่นเดียวกัน.

ความงดงามของศิลปะนั้น อยู่ที่การอนุญาตให้ผู้สัมผัสได้ให้คำตอบแบบปลายเปิดออกมา
ทั้งต่อตนเองและแก่สาธารณะ ..นี่เองที่เราพูดกันเสมอว่า ศิลปะไม่มีถูก-ผิด .

ลองให้คำตอบกับตัวเองดูนะครับ :)


.......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็น โปรดเคารพในสิทธิของผู้อื่น ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่ละเมิดพรบ.ICT และห้ามโพสท์โฆษณานะครับ ^_^